ภูมิปัญญาล้านนา

ภูมิปัญญาพื้นบ้าน เป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากการสั่งสมและสืบทอดกันมาตามแต่วิถีชีวิตของผู้คน ชุมชน และสังคม แต่ละเรื่องแต่ละอย่างกว่าที่จะกลายมาเป็นความรู้ จนกลายมาเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านได้นั้น เกิดขึ้นจากการสังเกตุจนเกิดเป็นความเชื่อ และศึกษาทดลองจนกลายเป็นความรู้ ถ่ายทอดและเผยแพร่จนกลายมาเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน

ในสมัยก่อนชีวิตผู้คนต่างผูกพันอยู่กับธรรมชาติ ไม่ได้มีอุปกรณ์เครื่องปรุงรสชาติในการใช้ชีวิตมากมายเหมือนอย่างกับในปัจจุบัน สภาพสิ่งแวดล้อมรอบตัวล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกปรุงแต่ง เป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่แท้จริง และเป็นสิ่งที่คงอยู่ค่อนข้างยาวนาน การใช้ชีวิตของผู้คนก็มีเวลามากมายพอที่จะสังเกตุสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เมื่อเห็นบ่อยเข้า นานเข้าจนเป็นปกติก็กลายเป็นความเชื่อ เชื่อในส่ิงที่เห็นอยู่ตลอดนั้น เพราะสิ่งที่เห็นเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง เมื่อมีความเชื่อก็เริ่มประยุกต์ปรับปรุงเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการใช้ชีวิต โดยการลองผิดลองถูก ทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนรู้ถึงความถูกต้องเหมาะสม กลายมาเป็นความรู้ที่อาจจะเรียกได้ว่าพิสูจน์ได้ หลังจากนั้นก็ได้มีการเผยแพร่ออกไปตามกระบวนการทางวัฒนธรรมจนกลายเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านในปัจจุบัน

ภูมิปัญญาพื้นบ้าน เป็นการสั่งสมความรู้ผ่านชีวิตและกาลเวลา เช่น การสังเกตุเห็นสัตว์มากินพืชสมุนไพร บ่อยเข้าๆ จึงเชื่อว่าพืชสมุนไพรชนิดนี้มีประโยชน์ และได้นำเอามาใช้กับตัวเองและคนรอบข้างโดยการลองผิดลองถูก รักษาโรคหายบ้างไม่หายบ้าง รอดบ้างตายบ้าง ทดลองใช้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นความรู้สามารถกำหนดกะเกณฑ์ได้ถึงสรรพคุณ ปริมาณ และการใช้งานที่เหมาะสม

กระบวนการทางวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงาน การย้ายถิ่น การเดินทางท่องเที่ยว ติดต่อค้าขาย การศึกสงคราม ล้วนแต่มีส่วนช่วยนำให้ความรู้แพร่กระจายออกไปจากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ชุมชนสังคมอื่น กลายเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาสู่ปัจจุบัน

การถ่ายทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านจากรุ่นสู่รุ่น ล้วนแต่ต้องอาศัยเวลาในการเรียนรู้ คนสมัยก่อนไม่ได้เรียนเขียนอ่าน การจดจารบันทึกนั้นมีเพียงแค่คนเฉพาะกลุ่ม เช่น เจ้าขุนมูลนาย หรือในระดับชาวบ้านก็เป็นพระนักบวช การเรียนรู้ถ่ายทอดวิชามักจะเป็นการจดจำกระทำตาม บางครั้งก็อาศัยวิธีการครูพักลักจำ ทำซ้ำจนเข้าใจปฏิบัติได้คล่องแคล่วชำนาญ หรือกลายเป็นสัญชาติญาณติดตัวไปตลอดจนชั่วชีวิต ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ไม่เคยลืมเลือน ต่างจากปัจจุบันที่องค์ความรู้ต่างๆ ถูกถ่ายทอดกันอย่างผิวเผินและฉาบฉวย เรียนรู้แค่ให้ผ่านหูผ่านตา ได้ชื่อว่าเคยศึกษามาแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้รู้แจ้งรู้จริงแต่อย่างใด

สมัยเมื่อผมเรียนฟ้อนดาบกับพ่อครูท่านหนึ่ง มีเพลงดาบอยู่ 12 แม่ ท่านสอนให้ผมแม่ละ 1 เดือน ทุกวันๆ ผมก็จะต้องฝึกซ้อมแม่เดียวท่าเดียวนั้นไปเรื่อยๆ จนกว่าพ่อครูท่านจะขึ้นแม่ใหม่ท่าใหม่ให้ ในตอนนั้นผมยอมรับว่าไม่เข้าใจในวิธีการสอนของท่าน ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องใช้เวลานานขนาดนั้น ท่าเดียวนี้แหละที่ซ้อมแล้วซ้อมเล่า พ่อครูมาดูกี่ครั้งก็บอกว่าดีแล้วใช้ได้แล้ว แต่ก็ไม่ยอมสอนท่าใหม่ให้ซักที มีสิ่งเดียวก็คือความอดทนอดกลั้นร่ำเรียนจนจบครบ 12 แม่ซึ่งก็ใช้เวลาหนึ่งปีพอดี เพื่อนรุ่นเดียวกันที่มาเรียนตัดใจลาออกไปเกือบหมด เหลือที่อดทนกันอยู่ไม่กี่คน เด็กบางรุ่นมาเรียนไม่จบทั้งรุ่นเลยก็มี ผมเห็นคนสนใจมาเรียนกันมากมาย และก็นึกเสียดายในความสนใจของคนเหล่านั้นที่ดับสลายไปด้วยขาดซึ่งความอดทน ก็ได้ตั้งปณิพานไว้ว่า ถ้าผมเป็นครูสอนคนเหล่านั้นจะไม่ใช้วิธีการสอนเหมือนพ่อครู เพลงดาบ 12 แม่นั้น ถ้าฟ้อนต่อเน่ืองกันจนจบใช้เวลาไม่ถึง 10 นาที แล้วทำไมต้องเรียนเป็นปีให้เสียเวลา

วันหนึ่งผมได้มีโอกาสสอนเด็กกลุ่มหนึ่ง ต้องการมาเรียนฟ้อนดาบเพื่อนำไปแสดงในงานโรงเรียน ซึ่งพ่อครูให้ผมช่วยสอนแทนเนื่องจากท่านไม่ค่อยสบาย ผมรวบรัดการเรียนการสอนจาก 1 ปีเหลือแค่ 20 วัน ผลปรากฎว่าเด็กทั้งกลุ่มเรียนจนจบครบหมด เมื่อแสดงให้พ่อครูดูท่านก็ชมว่าถูกต้องใช้ได้ ซึ่งเด็กกลุ่มนั้นก็สามารถนำเอาการฟ้อนดาบไปแสดงได้สมดังความตั้งใจ ทำให้ผมคิดว่าต่อไปนี้จะปฏิวัติการเรียนการสอนอันแสนน่าเบื่อแบบเดิมนี้เสียที

จากวันนั้นผ่านไปแค่เพียงเดือนเศษ ทางจังหวัดได้ติดต่อมาขอให้พ่อครูนำช่วยนำเอาการฟ้อนดาบไปแสดง ผมได้ติดต่อเด็กกลุ่มที่เคยสอนเพื่อที่จะให้ไปร่วมแสดงด้วย ก่อนวันงาน 1 วันผมได้นัดเด็กกลุ่มนั้นมาซ้อม ผลปรากฎว่าเด็กทั้งกลุ่มฟ้อนผิดหมด ขนาดว่าบางคนจำท่าฟ้อนบางแม่ไม่ได้ก็มี ต้องจับมาสอนกันใหม่ทั้งหมด ซึ่งในวันงานจริงก็ฟ้อนผิดกันเสียส่วนมาก พ่อครูท่านก็ได้ถามผมว่าอยากรู้มั้ยว่าทำไมเด็กกลุ่มนี้ถึงฟ้อนผิด ผมตอบว่าเค้าไม่ได้ซ้อมกันให้ดีก่อน ท่านก็ตอบว่าไม่ใช่ ที่เด็กกลุ่มนี้ฟ้อนผิดเพราะเขาไม่ได้ซึมซับ ไม่ได้เข้าถึง และไม่ได้เข้าใจสิ่งที่พวกเค้ากำลังทำอย่างถ่องแท้ ตัวผมเองไม่ได้ซ้อมทุกวันนับเป็นปีๆ แล้วทำไมยังจำได้และยังสอนได้ ก็เพราะว่าตอนที่เรียนนั้นผมได้ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้อมแล้วซ้อมเล่า จนติดเข้าไปอยู่ในตัวในหัวหมดแล้ว จับดาบจับไม้ก็ฟ้อนได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องนึกไม่ต้องถามมันก็ออกมาเอง แต่เด็กพวกนี้เค้าเรียนด้วยการจำ จำ 12 แม่เนี่ยมันแป๊บเดียว แล้วพวกเค้าก็จำได้แป๊บเดียวเหมือนกัน คนเรามีเรื่องราวผ่านเข้ามาอยู่ทุกวัน ยิ่งเด็กในวัยเรียนด้วยแล้วมีเรื่องต้องจดต้องจำเยอะแยะมากมาย ที่สอนไป 20 วันน่ะ ผ่านไปเดือนเศษเค้าก็เลือนแล้ว ครึ่งปีก็คงลืมกันหมด แล้วอย่างนี้จะเรียกว่าสืบทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านไว้ได้ยังไง

หลังจากครั้งนั้นทำให้ผมคิดได้ว่า ภูมิปัญญาพื้นบ้านไม่ใช่เป็นแต่ตัวความรู้เท่านั้น แต่วิธีการเรียนรู้ การศึกษา และการทำความเข้าใจก็ยังเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านด้วยเช่นกัน การคิด การเรียนรู้ การถ่ายทอดแบบฉาบฉวยนั้นนอกจากจะไม่ใช่เป็นการถ่ายทอดสืบสานหรืออนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านอย่างแท้จริงแล้ว บางครั้งยังเป็นการทำลายไปด้วยโดยไม่รู้ตัว ซึ่งผู้ที่สนใจที่จะเรียนรู้หรือสืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้านอย่างแท้จริง ควรที่จะต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้และเรียนรู้ด้วยความหมั่นเพียรอดทน การเรียนรู้แบบก้าวกระโดดหรือแบบรวบรัดตัดความนั้นจะทำให้เรารู้แค่ผิวเผิน และไม่นานก็ลืมไปเสียจนหมดสิ้น

ขอฝากหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาพื้นบ้านให้ตระหนักถึงความเหมาะสมในการที่จะจัดสรรหลักสูตรการเรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน นึกถึงเป้าหมายที่ความยั่งยืนของภูมิปัญญาองค์ความรู้ มากกว่าปริมาณจำนวน เพื่อให้มรดกอันมีค่าที่บรรพบุรุษของเราได้คิดค้นเรียนรู้สั่งสมและถ่ายทอดสืบต่อกันมาจะได้สืบสานกันต่อไปในภายภาคหน้าอย่างถูกต้องและยั่งยืน